บทความพัฒนาตนเอง

บทความที่อ.หนูนาขอนำมาฝากให้ทุกท่านได้ลองนำไปปรับใช้กันนะคะ 
บทความที่ 1 ศิลปะแห่งการว่ากล่าว ตักเตือน
ช่วงนี้เห็นข่าวลูกน้องทำร้ายเจ้านายหลายข่าว และแรงจูงใจนั้นมาจากการที่ได้รับการว่ากล่าว ตักเตือน ตำหนิ เราสามารถทำให้การสื่อสารดูนุ่มนวลขึ้นได้และยังคงวัตถุประสงค์ที่เราต้องการได้อยู่ค่ะ
ก่อนที่จะว่ากล่าวตักเตือน ลองเช็คความต้องการของตัวเองให้ชัดว่าจุดประสงค์ของการตักเตือนครั้งนี้คืออะไร เช่น..
1.ต้องการให้งานเดินหน้า ให้แก้ไข
2.ต้องการตำหนิ ให้เห็นจุดบกพร่อง
3.ต้องการทำให้รู้สึกผิด อับอาย
บ่อยครั้งที่เราต้องการข้อที่1 แต่ก็มักใช้คำที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกข้อที่3และเกิดการขัดขืน ต่อต้าน แค้นเคืองผู้ตักเตือนตามมา
 
3 เทคนิคนี้ช่วยได้ค่ะ
1.ถ้าไม่พอใจอย่าเพิ่งรีบพูด คำที่ออกมาจากความรู้สึก มันไวมาก สมองไม่อยากทำงานหนักก็จะไม่คิดเยอะ พูดออกมาเลย ถ้ามันเป็นเชิงบวกเช่น ชมเชย ยินดี อันนี้แสดงได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าตอนที่รู้สึกเชิงลบ คำก็มีแนวโน้มออกมาในเชิงลบเช่นกัน และเราก็อยากจะพูดมันออกมาเพราะเหมือนได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นในตอนนั้น พูดแล้วก็โล่ง และบางครั้งก็ลืมว่าพูดอะไรออกไป โดยไม่ทันคิดในมุมของผู้ฟังว่า "หากได้ยินคำนั้นจะรู้สึกอย่างไร"
ดังนั้น แนะนำว่า เมื่อเกิดความรู้สึกลบๆขึ้น
-อย่าเพิ่งพูด ลองหายใจเข้าลึกๆ ถ้าหายใจทางจมูกไม่ทันให้หายใจทางปากเข้าช่วยจะรู้สึกดี
-ใช้เสียงโทนปกติถึงต่ำเล็กน้อย พูดให้ช้าๆ เสียงโมโนโทน ทำเสียงให้เย็นๆ หากนึกไม่ออกลองเปิดเสียงตอนพระท่านเทศน์ธรรมะค่ะ
-ใช้งานเจ้าสมองของเราให้ทำงานเพิ่มอีกนิด โดยคิดทบทวนก่อนจะพูดออกไป จำไว้เสมอว่า"ไม่มีใครบังคับให้เราต้องรีบพูด"
 
2. เปลี่ยนตักเตือนเป็นตั้งคำถาม เพราะบางครั้งการเตือนก็เหมือนการจ้องจับผิด ถูกสอนหรือตำหนิ และแต่ละคนก็มีความมั่นใจ ศักดิ์ศรีที่ติดตัวเค้ามาด้วยเช่นกัน
เช่น"ทำงานช้าแบบนี้ กี่วันเสร็จ ต้องให้ตามตลอด"
ลองเปลี่ยนเป็นการถามจะนำพาให้อีกฝ่ายได้คิด หาทางออก ยินยอมทำด้วยความเต็มใจ
เช่น "เธอพอจะให้คำตอบพี่ได้ไหมว่างานจะแล้วเสร็จพร้อมส่งพี่เมื่อไหร่"
 
3.ตักเตือนแบบไม่ด่วนตัดสิน บางครั้งการตักเตือนมักจะมาพร้อมกับการแปะป้ายไว้ว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น ถึงทำให้เรื่องออกมาแบบนี้
เช่น "เธอช่วยทำงานให้มันดีๆหน่อย เพราะเธอเป็นคนไม่ละเอียด ชุ่ยมาก งานถึงออกมาผิดพลาดอย่างนี้"
ทางออกที่ดีที่สุดคือ พูดเฉพาะข้อเท็จจริงค่ะ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่ต้องตัดสิน
เช่น "พี่เห็นงานมีเขียนผิดหลายจุดเลย เธอช่วยนำกลับไปตรวจดูให้อีกครั้งนะ"
 
"ท้ายที่สุดไม่ใช่เทคนิคแต่เป็นเรื่องของการถนอมน้ำใจ เพราะเราต่างก็รู้ว่าคนตรงหน้ามีความสำคัญไม่มากก็น้อย ดังนั้นควร "ขอบคุณ" หากเค้าจะกลับไปทำในสิ่งที่เราแนะนำ และเพื่อให้คงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่ค่ะ"
 
บทความที่ 2 ทักษะการพูด ฝึกฝนได้
โพสต์นี้เหมาะสำหรับคนที่......
1.ไม่กล้าพูด (ไม่ใช่เฉพาะวัยเด็กนะคะ วัยทำงานก็เป็นค่ะ)
2.เขิน ไม่กล้าสบตา ไม่มั่นใจที่จะคุยกับคนอื่นเป็นเวลานานๆ
3.อยู่ในวงพูด ปิดปากเงียบ ไม่กล้าพูด ทั้งๆที่มีเรื่องพูด 
>อาการเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ ความกลัว กังวลทำให้เราไม่กล้าที่จะเริ่มพูดแม้เป็นประโยคง่ายๆ 
>>เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการพูดในสถานการณ์ต่างๆเช่น การนำเสนอ การขาย หรือแม้กระทั่งการเข้าสังคม 

หากอยาก"กล้าพูด"มากขึ้น ลองฝึก3 วิธีนี้นะคะ
1.ทำให้ทุกมุมโลกคือที่ฝึกของเรา ลองพูดคุยกับคนที่เราต้องพบจอในวันนั้นๆ ไม่ต้องรู้จักหรือสนิทกันมาก่อน เป็นการฝึกเปิดบทสนทนาก่อน (ให้ผลดีมากค่ะ)
โดยอาจจะเริ่มจาก พ่อค้า แม่ค้า พนักงาน ที่เราไปซื้อของหรือเข้ารับบริการ โดยใช้คำถามทั่วๆไปเช่น เป็นยังไงบ้างขายดีไหม? ช่วงนี้คนเริ่มกลับมาหรือยัง? ช่วงสิ้นปีสินค้าอะไรขายดี? อธิบายได้ดีมากๆเลย เป็นต้น  
ฝึกไปเรื่อยๆค่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะไม่กลัวการพูดกับคนที่ไม่สนิทหรือคนแปลกหน้า กล้าสบตามากขึ้น และไม่ต้องกังวลนะคะว่าเค้าจะชื่นชอบหรือไม่ชอบการสนทนาของเรา เพราะไม่ได้เจอกันบ่อยๆ หรือบางคนเราพบเพียงครั้งเดียว ประเด็นคือ "ขอให้เราได้ฝึกค่ะ" 

2.ฝึกยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้อื่นก่อน 
ในขณะที่เรามีความอยากจะช่วยเหลือผู้อื่น เรามักจะลืมเรื่องที่กังวลไปชั่วขณะค่ะ ลืมคิดไปว่าเค้าจะชอบ ไม่ชอบเราไหม เพราะจุดโฟกัสมันถูกย้ายไปที่ "การอยากช่วยเหลือ"แทนค่ะ โดยสามารถฝึกถามเช่น ขณะเข้าลิฟต์ "ลิฟต์ขึ้นค่ะไปด้วยกันไหมคะ" "ให้ช่วยอะไรไหมคะ" 
วิธีนี้ไม่ต้องดีไซน์คำพูดมากเพราะมันเป็นคำที่ออกมาจากใจ แต่สิ่งที่ได้คือความกล้าพูดมากขึ้นค่ะ และถ้าเค้าปฏิเสธก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะขอให้เราได้ฝึกค่ะ 

3.ฝึกพูดประโยคเหล่านี้ให้ชินปาก เมื่อชินแล้วจะตอบโต้ได้อัตโนมัติจะดูคล่องขึ้น หากนึกอะไรไม่ออกก็ใช้ประโยคเหล่านี้พูดเพื่อซื้อเวลาให้คิดก่อน จะดูมีมารยาทด้วยค่ะ^^
เช่น เวลามีคนชมว่าเราสวย ถ้าคิดไม่ออกว่าจะตอบยังไงดีให้พูดว่า "ขอบคุณมากค่ะ" ถ้ามีคนขอบคุณให้ตอบทันทีว่า "ด้วยความยินดีค่ะ" และยังมีประโยคอื่นไปที่สามารถพูดให้ชินปากเลยเช่น "ขออภัย" "ขอบพระคุณ" "สบายดีค่ะและคุณเป็นอย่างไรบ้างคะ" เป็นต้น 

"หากเรากล้าที่จะเริ่มต้นการสนทนา สมองเราจะสรรหาคำที่เก็บไว้ในคลังคำของเรา ทยอยนำออกมาใช้เองค่ะ ขอเพียงได้เริ่มพูดนะคะ"
 
บทความที่ 3 สื่อสารในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างไม่เห็นด้วย อย่างไรดี
-คุยกันสักพักรู้สึกอีกฝ่ายโต้แย้งหนักขึ้นเรื่อยๆ
-คุยกับคนนี้ก็รู้สึกไม่ยากคุยด้วยแล้ว
-ทำไมเค้าถึงไม่เห็นด้วยกับเราตลอด
-ไม่เห็นด้วยทำไมถึงนำไปสู่ความขัดแย้งทะเลาะวิวาทได้ล่ะ
จะสื่อสารกับคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างไร แล้วเราจำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกเรื่องไหม ??
 
เริ่มต้นทำความเข้าใจจากที่มากันค่ะ
ทุกคนต่างมีชุดความคิด ประสบการณ์ ความเชื่อของตนที่สั่งสมมาต่างกัน แต่การที่เรามีความรู้เพิ่มเติมจนถึงปัจจุบันก็ด้วยการเปิดรับ ทำความเข้าใจ เก็บสะสมมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น เราก็มีชุดความคิดที่สั่งสมมามากมาย คนอื่นก็เช่นเดียวกันค่ะ
>บางครั้งการที่เราพยายามทำให้อีกคนเห็นด้วย มันคือการพยายามในการพิสูจน์ว่าความคิดตนนั้นถูก โดยลืมมองว่า เรากำลังจำกัดกรอบความคิดของตัวเราให้เชื่ออยู่แบบนั้นหรือเปล่า แล้วเราจะมีกรอบความคิดที่ขยายกว้างขึ้นได้อย่างไร
>ดังนั้นในการสื่อสารที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากเราจะขยายกรอบของอีกฝ่าย เราก็สามารถขยายกรอบความคิดตนเองได้เช่นกัน
 
ลองเริ่มจากmindsetและเทคนิค4ข้อนี้กันค่ะ
1. อย่าพยายามเอาชนะอีกฝ่าย เพราะแต่ละคนมีวัตถุดิบทางความรู้และมั่นใจในสิ่งนั้นต่างกัน หากเราชนะนั้นหมายถึงอีกฝ่ายแพ้ หรือหากเราแพ้ เราก็ไม่อยากที่จะยอมรับความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วยความเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญเมื่อเราได้รับการตอบกลับมาไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามให้
-กรองเอาเหตุและผลให้ได้
-ให้ดีใจกับตนเองว่าวันนี้เราได้ข้มูลใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ทำให้เราเห็นแสงสว่างในมุมที่เรายังไม่เคยรู้
-จุดไหนที่เห็นแย้ง ให้พูดคุยรายละเอียดนั้นเพิ่มเติมอย่างสุภาพ
 
2.ลดคำแบบเหมารวม "ทุกคน ทุกอย่าง"
คำที่ใช้เหมารวม อาจไม่ตรงกับความคิดของอีกฝ่ายและอาจเกิดการโต้แย้งขึ้นมาได้
เช่น ผู้ชายทุกคนเจ้าชู้ ผู้หญิงทุกคนชอบซื้อเครื่องสำอาง จระเข้ดุทุกตัว เธอนี่เป็นอย่างนี้ทุกทีเลยนะ!!!เป็นต้น
ให้ลองใช้คำที่เปิดพื้นที่กว้างทางความคิด เช่น บางคน บางเวลา อาจจะ ผู้ชายบางคนก็เจ้าชู้แต่ไม่ทั้งหมด จระเข้บางตัวก็ดุ บางครั้งเธอก็ดุเหมือนกันนะ เป็นต้น
 
3.เข้าใจคนที่ชอบโต้แย้ง
บางคนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับเรา เค้าไม่รู้จะแสดงออก สื่อสารอย่างไร บางคนก็ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือบางคนก็อาจถูกปลูกฝังให้ต้องถกเถียงเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เราทำได้คือ
-สังเกตรูปแบบการพูด
-ทำความเข้าใจ
-ไม่ใส่อารมณ์กลับไป
 
4.อย่าเพิ่งเชื่อความเชื่อ ความคิด ประสบการณ์ของเราว่าสามารถเอาไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ เช่น เราเชื่อว่าคนจะรวยได้ต้องตื่นแต่เช้ามาทำงาน แต่บางคนทำงานกับลูกค้าต่างชาติเวลาผิดกัน ทำงานช่วงอื่นก็เหมาะกับเค้ามากกว่า
 
5.มองหาประสบการณ์มากกว่าหลักการ
หลักการมีถูกและผิด ประสบการณ์ไม่มีถูกผิด มีแต่เปิดกว้าง ดังนั้น หากอยากให้การสื่อสารไม่จำกัดความคิดเห็นจนเกินไป ลองแชร์ประสบการณ์หรือมองหาประสบการณ์จากที่ผู้อื่นกำลังเล่า แทนการถามหาหลักการจะช่วยให้เราขยายกรอบความคิดได้
 
บทความที่ 4 เป็นคนฟังเก่ง ต้องทำอย่างไร
นักแสดงคนหนึ่งพูดว่า "อยากเล่าอะไรให้หนูฟังไหมคะ หนูฟังเก่งนะคะ" จากละครเรื่องพฤษภา-ธันวา รักแท้แค่เกิดก่อน
คนฟังเก่ง คนฟังเป็น นั้นเป็นอย่างไร ปัจจุบันเราฟังแบบไหนกัน แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร
หากวันนี้คุณกำลังนั่งฟังอีกฝ่ายกำลังระบายความรู้สึก มาปรึกษา มาเล่าเรื่องให้ฟัง ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะเพราะทางจิตวิทยา คนมักจะพูดความรู้สึกในใจ ปรึกษาเรื่องที่ไม่สบายใจ เฉพาะกับคนที่เค้ารู้สึกว่าไว้ใจได้ วางใจ สนิทใจ พึ่งพาได้ พร้อมที่จะฟังเค้าและคนนั้นคือคุณค่ะ
มาลองเช็คระดับการฟังแบบคร่าวๆ ถ้าจะฟังให้เก่งต้องอยู่ระดับไหน
1.ไม่ได้ฟัง (Non-Listening) ขอใช้คำว่าระดับของการได้ยินไม่ใช่ได้ฟัง คือเสียงกระทบใบหูแล้วผ่านไป ไม่มีภาษากายที่ตั้งใจฟัง ทำอย่างอื่น คิดอย่างอื่นไปด้วย
2.แกล้งฟัง (Pseudo listening) เพื่อไม่ให้ผู้พูดน้อยใจว่าไม่ฟัง จะมีท่าทางตอบรับการฟัง พยักหน้า ทวนคำได้เป็นระยะแต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ฝึกมา ถ้าถามว่าได้ทำความเข้าใจ ตั้งใจฟังจริงๆไหม ตอบว่าไม่ค่อยค่ะ
3.เลือกฟัง (Defensive Listening) คือเลือกฟังเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์กับตนเองหรือเรื่องที่ตนเองอยากได้ยิน อยากจะคุยด้วย เช่น แฟนเล่าว่าเมื่อวานทานข้าวกับลูกค้าแล้วเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย คำถามแรกที่เราถามคือ....ทานที่ไหน ลูกค้าคือใคร ^^
4.ตั้งใจฟัง (Appreciative Listening) ขั้นนี้เป็นขั้นที่ดีค่ะเพราะตั้งใจฟังทั้งเรื่องทุกประเด็น มีภาษากาย คำพูด คำถามในระหว่างการฟังที่ดี หากมีการถามก็สามารถตอบได้ แต่ไม่เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูด
5.ฟังอย่างลึกซึ้ง(Empathy Listening) คือการใช้ใจเข้าไปฟังด้วย เกิดความเข้าใจความรู้สึก ความหมายที่ผู้พูดกำลังบอก มีการตอบสนองที่ดี ซึ่งเป็นขั้นที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้พูดและผู้ฟังเป็นอย่างมากค่ะ
 
ทีนี้จะเพิ่มเทคนิคการฟังให้เก่งขึ้นอย่างไรได้บ้าง
1.ภาษากายที่ตั้งใจฟัง เพราะเป็นสิ่งแรกที่ผู้พูดมองเห็น สมมุติว่าเรากำลังเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ถ้าเพื่อนฟังไปเล่นมือถือไป เราคิดว่าเพื่อนกำลังตั้งใจฟังเรามากน้อยขนาดไหนคะ??
เช่นกันค่ะ หากเป็นเราควรวางทุกอย่างหากเป็นไปได้ หยุดกิจกรรมที่อาจรบกวนการพูด เช่น กดปากกา สั่นขา เล่มมือถือเป็นต้น หรือหากกำลังทานข้าวอยู่ก็ควรลดความเร็วลงค่ะ และควรสบตา พยักหน้าเป็นระยะโดยเฉพาะสิ่งที่ผู้พูดเน้น ควรรับรู้ความรู้สึกด้วยการแสดงสีหน้าให้เข้ากับความรู้สึกผู้พูดจะดีมากค่ะ
 
2.ฟังให้จบ หากอยากรู้ความรู้สึกที่แท้จริง ระหว่างฟังอย่าเพิ่งขัด ตัดสิน แนะนำ ต่อว่า เพราะจะทำให้ผู้พูดม้วนเก็บความรู้สึกที่แท้จริงกลับไป ด้วยเหตุที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยทางความคิดและการแสดงความรู้สึกค่ะ
 
3.ถ้าเรื่องที่ฟัง มันไม่ใช่! อย่าเพิ่งขัด ให้ลองตั้งคำถามในใจว่า ทำไมเค้าถึงคิดอย่างนั้น อะไรทำให้เค้ารู้สึกอย่างนั้น จะทำให้เราเปิดกว้าง เปิดฟังมากขึ้นค่ะ
 
4.หากอยากถาม คำที่ใช้ถามแสดงทัศนคติ ความรู้สึกผู้พูดได้ดีคือ "ทำไม" "อย่างไร" เช่น "ตอนนี้เธอเป็นอย่างไรบ้าง"
 
5.แสดงความสนใจเพิ่มอีกนิด ถ้าเรากำลังฟังผู้พูดที่ชอบแชร์เรื่องใหม่ๆที่เค้าสนใจ ให้เราใส่คำที่ช่วยให้ผู้พูดรู้สึกว่าเราคุยสนุกเช่นคำว่า "โห เรื่องนี้น่าสนใจมากๆเลยค่ะ"
 
จะเห็นได้ว่าการฟังไม่ใช่เป็นเพียงการเงียบเท่านั้น แต่มันคือการที่เราให้ความสำคัญผู้พูด ทำให้ผู้พูดได้พูดสิ่งที่ตนเองต้องการออกมาด้วยความรู้สึกที่แท้จริงและพูดออกมาได้หมด รับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่ต้องเห็นด้วยทั้งหมดแต่แค่มีจังหวะในการตั้งคำถามที่ดีร่วมด้วย นั่นคือเราเป็นนักฟังที่ดีและเก่งแล้วค่ะ 
 
บทความที่ 5 เปลี่ยนภาพหัวหน้าที่ดุดันให้เป็นหัวหน้าที่ลูกน้องรัก 
เปลี่ยนภาพหัวหน้าที่ดุดัน ก้าวร้าว ชอบออกคำสั่ง ให้เป็นที่รักของลูกน้อง ด้วย"คำ"ที่ใช้
เพราะการพูดให้คนนั้น"อยากทำ"จะดีกว่าการข่มขู่ กดดัน ตำหนิให้คน"ยอมทำ" เพราะความตั้งใจ เต็มใจนั้นต่างกัน
 
ลองปรับใช้ 3 เทคนิคที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูเป็นมิตรขึ้นค่ะ
1.หัวหน้าที่ชอบใช้คำสั่ง "ต้อง ควร จง" ให้ลองเปลี่ยนคำเป็น "รบกวน ช่วย"
เพราะมนุษย์ย่อมต้องการอิสระทางความคิด การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ หากต้องการให้ทำอะไรลอง "ใช้คำสั่งอย่างสุภาพ"
เช่น "คุณบี ตอนเลิกงานคุณต้องไปจองโต๊ะอาหารให้ผม เพราะผมมีนัดทานข้าวกับลูกค้า"
เปลี่ยนเป็น "ผมมีนัดทานข้าวกับลูกค้าเย็นนี้ ผมรบกวนคุณบีช่วยจองโต๊ะอาหารให้ผมหน่อยนะครับ"
 
2.หัวหน้าที่ชอบเบรค โดยใช้คำว่า"แต่" ให้ลองใช้คำว่า"และ" แทน
"แต่" ทำให้ประโยคพบกับความสะดุด
"และ" เป็นคำเชื่อมแม้ในประโยคอาจตรงข้ามกัน
การทำงานของสมองของเรา เมื่อมีใครพูดคำว่าแต่ เรามักจะตั้งใจฟังมากขึ้นและจะทำให้สิ่งที่กำลังพูดดูดังกว่าประโยคแรกเสมอ
เช่น "คุณบี งานที่คุณทำดีนะแต่ผมว่าคุณไม่ค่อยรอบคอบ"
เปลี่ยนเป็น "คุณบี คุณทำงานออกมาได้ดีและทีนี้ผมอยากให้คุณช่วยตรวจทานเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียดให้ผมหน่อยนะ"
 
3.เชื่อไหมว่าการห้ามสามารถเป็นการเน้น คำว่า "อย่า หยุด ห้าม" จะทำให้จิตของผู้ฟังสนใจคำที่ห้ามมากขึ้น
หากไม่เชื่อลองดูนะคะ
"ห้ามมองออกไปนอกหน้าต่างนะ เพราะลมมันแรง"
"อย่ากลั้นหายใจ เดี๊ยวหายใจไม่ออก"
ดังนั้น หากไม่ต้องการให้คนทำอะไร ให้ลองเปลี่ยนเป็น อยากให้เค้าทำอะไร จะดีกว่าค่ะ
เช่น "อย่าปิดประตูเสียงดัง"
เปลี่ยนเป็น "ปิดประตูอย่างเบามือ"
หรือ
หากปฏิเสธว่า "อย่ามากล่าวหาว่าผมโกง ผมไม่ได้โกง"
เปลี่ยนเป็น "จากที่คุณกล่าวหาผม ผมขอยืนยันว่าผมทำทุกอย่างตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้ครับ"
 
"3เทคนิคนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะหัวหน้านะคะ ถ้าหากอยากสนทนาให้ราบรื่นขึ้น พูดแล้วรื่นหู สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้ สามารถลองปรับใช้ได้ค่ะ"
 
บทความที่ 6 ดูแลสมองไม่ให้แก่ก่อนวัย
-ลืมที่จอดรถ
-ลืมว่าปิดไฟหรือยัง
-ลืมว่าจะหยิบอะไร
-ลืมชื่อคน
หนังสือ Healthy Brain ของ รศ.ดร.กุลยา ตันติผลาชีวะ
ท่านได้แนะนำเทคนิคฝึกการจำ กระตุ้นเซลล์ประสาทให้ทำงานดียิ่งขึ้น ซึ่งในเล่มมีหลายเทคนิคมาก แต่ขอสรุปเทคนิคที่หนูนานำไปฝึกแล้วช่วยได้มากเลยนะคะ
......เช้า......
1.ตื่นขึ้นมาแล้วให้รีบดื่มน้ำเปล่า เพราะช่วยให้เซลล์สมองมีการไหลของกระแสไฟฟ้าได้ดีขึ้น คิดอะไรจะเร็วขึ้น
2.ฝึกคิดเลขเป็นชุดง่ายๆ ในใจ เช่น 6+7-9×4÷2 จะกระตุ้นเซลล์ประสาทตื่นตัว มีการเชื่อมต่อของใยและกระตุ้นสารเคมีให้พร้อมใช้
3.อ่านหนังสือที่ชอบสัก1ย่อหน้า (หนูนาอ่านประมาณ3 บรรทัด) เสร็จแล้วให้ปิดหนังสือ แล้วพยายามทบทวนเนื้อหาให้ได้มากที่สุด ข้อ2+3 ควรทำต่อเนื่อง ทิ้งห่างไม่เกิน1นาที และต้องตอนเช้า เพราะเซลล์ประสาทผ่านการพักผ่อนมาเต็มที่แล้ว
......ระหว่างวัน......
4.ฝึกจำอะไรง่ายๆ โดยใช้ความตั้งใจ (ที่จอดรถ ชื่อคน ชื่อสถานที่) เพราะบางครั้งการลืมอาจมาจากเราไม่ได้ใส่ใจ เช่น ชื่อคน ถ้าชื่อหนูนาก็ให้ทวนชื่อเค้าอีกครั้งขณะพูดคุย หรือ เชื่อมกับรูปหนูนาที่น่ารัก เพื่อให้จำได้^^
5.ดื่มน้ำทุกชั่วโมง อย่างน้อยๆ1แก้ว (ห้ามลืม)
6.เรียนรู้เรื่องราวระหว่างวัน ได้ทั้งพูดคุย แสดงความคิดเห็น การอ่านและการฟัง เพื่อให้ใยสมองงอกงาม
7.ฝึกหายใจให้ท้องพองและยุบ เพื่อให้สมองได้รับออกซิเจนเต็มที่ โดยนั่งตัวตรงๆจะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น เท้าวางบนพื้นให้เต็มฝ่าเท้า มือวางบนหน้าขา หลับตา แล้วหายใจช้าๆ สามารถเป่าลมออกทางปากได้
......ก่อนนอน.....
8.คิดทบทวนว่า ทั้งวันได้ทำอะไรบ้าง หนูนาจะคิดเป็นภาพ เก็บรายละเอียดเท่าที่จะเก็บได้ ไล่มาตั้งแต่เช้าถึงก่อนนอน เช่นดื่มชาอะไร ที่ไหน กี่แก้ว สิ่งที่ได้นอกจากความจำ ยังเป็นการทบทวนด้วยว่าลืมอะไรไป (มีครั้งนึงทบทวนแล้วพบว่าลืมจ่าย M flow เลยต้องลุกขึ้นมาจ่าย 555555) แต่ถ้าทบทวนแล้วหลับ ก็ให้หลับไปไม่ต้องตื่นมาคิดใหม่นะคะ ^^
หนังสือเล่มนี้ดีมาก อ่านเข้าใจง่ายมากๆ ทั้งๆที่เราใช้สมองตลอดแต่จะดีขึ้นอีกหากเรารู้ว่าควรดูแลเค้าอย่างไร เพราะสมองไม่แก่ตามอายุ ถ้าเจ้าของหมั่นกระตุ้นและสร้างพลังงานสมองอยู่เสมอ
ขอบคุณหนังสือดีๆค่ะ
เขียนโดย ดร.นทษร สุขสารอมรกุล(หนูนา)
 
Visitors: 591,453